ที่มาโครงการ

 

            กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และระนอง ด้วยความโดดเด่นของลักษณะภูมิประเทศที่มีท้องทะเลสวยงาม จึงเป็นจุดขายในการท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักของนักเที่ยวทั่วโลกจึงเป็นศูนย์กลางการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์ และประเพณีและวัฒนธรรม

            จังหวัดกระบี่ เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลในระดับโลก  โดยมีเกาะพีพีเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีรูปทรงสีสันแปลกตา  เหมาะแก่การล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ท้องทะเล  เที่ยวชมเกาะรูปร่างสวยงามแปลกตา  ชมทะเลแวกหนึ่งใน Unseen Thailand  ดำน้ำดูปะการัง  ที่เกาะไก่ เกาะทับ อ่าวไร่เลย์  ถ้ำพระนาง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งโบราณคดี  เช่น  แหล่งถ้ำโบราณคดีที่มีภาพเขียนสีผนัง   เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ค้นพบลูกปัด เป็นแหล่งปลูกปาล์มและผลิตปาล์มน้ำมันแปรรูป มีศิลปะการแสดงลิเกป่าที่รู้จักกันทั่วไป

            จังหวัดตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางทะเล        และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบพำนักยาว (Long Stay)    มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย  มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรจนกระทั่งถึงระดับปริญญาตรีและปริญญาโทหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (ศูนย์ตรัง) มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต วิทยาเขตตรัง สถาบันราชมงคลศรีวิชัย เป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียง มีแหล่งโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการแล้วถึง 20 แห่ง ซึ่งควรจะได้รับการเผยแพร่และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ในคุณค่าเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมของถิ่น มีบุคคลสำคัญๆ ในท้องถิ่นทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้วที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น

            จังหวัดพังงา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ มีเกาะแก่งมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลอยู่มากมายที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เช่น ท้องทะเลอ่าวพังงาที่มีผืนน้ำสีมรกต เขาตะปู ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักเที่ยวทั่วโลก  มีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน  พื้นที่บริเวณเขาหลัก เป็นแหล่งที่พักหลักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ   มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำที่สวยงาม เช่น ถ้ำลอดน้ำ ถ้ำลอดใหญ่ และธรรมชาติของป่าโกงกาง เกาะปันหยี หมู่บ้านกลางน้ำ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน

            จังหวัดภูเก็ต  เกาะภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก  เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ลักษณะผสมระหว่างโปรตุเกสและจีน ซึ่งเรียกว่าชิโน-โปตุกิส  

            จังหวัดระนอง มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศสหภาพเมียนม่าร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางการคมนาคมทางเรือเดินทางไปสู่ประเทศพม่า  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากน้ำแร่บำบัดและรักษาสุขภาพ  เป็นจังหวัดที่มีแหล่งน้ำพุร้อนหรือน้ำแร่ธรรมชาติที่มีคุณภาพ 

            จากความโดดเด่นของ 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน    จึงทำให้ประชาชนในจังหวัดตรังให้ความสนใจในข้อมูลความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นชายฝั่งอันดามัน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเรียนการศึกษาค้นคว้า  เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจประกอบธุรกิจและอาชีพต่าง ๆ ที่ส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจสปา  ธุรกิจด้านศิลปะการแสดง ธุรกิจด้านสิ่งทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น  และมีปัจจัยที่สำคัญคือ สังคมในยุคปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะประชาชนในสังคมเมืองมีความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์สามารถใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น แอปพลิเคชั่นไลน์  เฟสบุ๊ก เป็นต้น  ดังนั้นการพัฒนาสารสนเทศในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้อ่านและศึกษาค้นคว้า สารสนเทศจึงมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการเรียน  การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายสะดวกและรวดเร็ว สามารถนำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ได้ทันที  ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจึงกลายเป็นข้อมูลความรู้มหาศาล  องค์กรและหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้บริการสารสนเทศจึงพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการจัดเก็บองค์ความรู้ให้ทันยุคสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  มีการปรับรูปแบบการใช้งานและการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการ ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว  ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ  และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันด้วย

          ในฐานะที่หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน อยู่ภายใต้สังกัดสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง มีภารกิจในการสำรวจ จัดหาและรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ      และสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศแก่ผู้ใช้บริการทุกเพศทุกวัยและทุกสาขาอาชีพ โดยจัดหาและพัฒนาเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้อ่านและศึกษาค้นคว้าช่วยเสริมสร้างสติปัญญาให้มีความรู้และกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิด นำไปต่อยอดทางด้านความคิดใหม่ ๆ ที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจ ก็สามารถจะพึ่งพาตนเองได้ทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพที่ช่วยดำรงชีพให้มีรายได้ให้กับตนเองและท้องถิ่นต่อไป หากส่งเสริมและพัฒนาหอมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นชายฝั่งอันดามัน  จะทำให้หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง  เป็นที่สนใจของประชาชนและต้องการเข้ามาใช้บริการ เพื่อการอ่านและการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่นชายฝั่งอันดามันมากยิ่งขึ้นด้วย

          ดังนั้นในงบประมาณประจำปี 2560 หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง  จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศท้องถิ่นชายฝั่งอันดามันขึ้น ให้มีความทันสมัยกับวิวัฒนาการของสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Society) เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวกับท้องถิ่นชายฝั่งอันดามัน โดยการจัดเก็บฐานข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบจอสัมผัส (Touch screen)  โดยจัดแบ่งโครงสร้างเนื้อหาที่อยู่ภายใต้ระบบฐานข้อมูลเดียวกันออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของจังหวัด ข้อมูลบุคคลสำคัญ ข้อมูลสถานที่       และข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรม  ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นชายฝั่งอันดามันได้ด้วยตนเอง เพียงใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอก็สามารถเลือกศึกษาข้อมูลได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว

            ต่อมาในปีประมาณประจำปี 2564 หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มพัฒนาระบบบริหารราชการ  กรมศิลปากร  จากโครงการพัฒนางานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้ดำเนินการเตรียมการพัฒนางานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศระบบสารสนเทศท้องถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามันเพื่อการให้บริการด้วยระบบออนไลน์ขึ้นมา ใช้ชื่อโดเมนเนม https://www.andamannlttrang.com หรือเว็บไซต์  “สารสนเทศ ท้องถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามัน”  และนำข้อมูลที่ให้บริการด้วยระบบทัชสกรีน (Touch screen) จากระบบสารสนเทศท้องถิ่นชายฝั่งอันดามันมาจัดเก็บในในเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามัน”   และเพิ่มเติมข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของจังหวัดตรัง   และอนาคตจะพัฒนาข้อมูลของจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป  เพื่อให้สอดรับกับความต้องการสารสนเทศภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งคาดว่าจะสนองความต้องการด้านสารสนเทศท้องถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามันแก่ประชาชนด้วยระบบออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น