, , ,

          ประเพณีวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่สืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และที่พึ่งให้กับผู้คนเมื่อยามเกิดปัญหาหรือมีสิ่งใดผิดปกติขึ้นในชีวิตของตนเอง  รวมถึงเป็นสิ่งป้องกันการเกิดขึ้นของสิ่งไม่ดีกับสังคม และยังเป็นกฎข้อปฏิบัติที่ดีงาม ลดการเกิดปัญหาร้ายแรงภายในชุมชน เพราะถือเป็นสิ่งที่ต้องกระทำร่วมกันและได้รับการยอมรับกันภายในหมู่สังคม ผู้ใดไม่ปฏิบัติ หรือกระทำตาม ถือว่าผู้นั้นบกพร่องต่อวงศ์ตระกูล และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมนั้น

          ประเพณีวัฒนธรรมส่วนใหญ่ จะสัมพันธ์กับธรรมชาติ ได้แก่ ท้องฟ้า พื้นดิน ดวงดาว สายน้ำ ป่าไม้ ฯลฯ เนื่องด้วยสังคมส่วนใหญ่ในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรม จึงต้องใช้ฤดูกาลเป็นเครื่องกำหนด ผลผลิตว่าผลผลิตจะออกมาอย่างไร จะเสียหายหรือเจริญเติบโต ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่าในธรรมชาตินั้นมีเทวดา หรือผู้เป็นใหญ่ดูแลธรรมชาติ เป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ ร่มเย็น ฤดูกาล ดังนั้นจึงต้องมีการเซ่นไหว้บูชาธรรมชาติ เพื่อให้การทำเกษตรกรรม เป็นไปด้วยความราบรื่น

          เมืองตรัง เป็นเมืองหนึ่งที่มีประเพณีวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ประเพณีหนึ่งในนั้นก็คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก ที่มีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งประเพณีถือศีลกินผักนั้น มีต้นกำเนิดเกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศจีน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อบูชาดวงดาวนพพระเคราะห์ 9 ดวง ซึ่งตามตำราจีนกล่าวว่า ดวงดาวทั้ง 9 นี้ เป็นดวงดาวที่มีอิทธิพลต่อผู้คนบนโลกมนุษย์ ส่งผลทั้งในด้านชีวิต การงาน การเงิน การดำรงชีวิตเป็นต้น นอกจากเป็นการบูชาดวงดาวที่ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์แล้ว ยังเป็นการบูชาบูรพกษัตริย์ ของชาวจีนโบราณ รวมถึงเหล่าวีรชนผู้กล้าในอดีต การบูชานั้นต้องบูชาด้วยความบริสุทธิ์ปราศจากความเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบแห่งคุณธรรมจริยธรรม จึงทำให้สิ่งที่ร้ายแรงกลายเป็นดีได้ โดยการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ การละเว้นการกินเนื้อสัตว์นั้น จะถือปฏิบัติในกลุ่มนักบวช ชนชั้นขุนนางขึ้นไปถึงฮ่องเต้ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้บ้านเมืองอยู่อย่างร่มเย็น ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล โดยพบจากหลักฐานในบันทึกราชสำนักของแต่ละราชวงศ์ ที่กล่าวถึงการบำเพ็ญของฮ่องเต้ เกี่ยวกับศาสนาว่า ฮ่องเต้ต้องทรงบำเพ็ญกุศล ละเว้นการกินเนื้อสัตว์ และแยกพระตำหนักในการบำเพ็ญพระกุศล เพื่อให้เหล่าเทวดาฟ้าดินรับรู้ และประทานความร่มเย็นแก่บ้านเมือง

          โดยประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดตรัง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 30 ค่ำ เดือน 8 หรือ ในบางปีก็จะเริ่มในวันขึ้น 29 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นวันที่เตรียมความพร้อมของแต่ละศาลเจ้าในการจัดงาน และผู้เข้าร่วมถือศีลกินผักจะถือว่าวันนี้เป็นวันเตรียมพร้อมในการเริ่มถือศีลกินผัก ซึ่งจะเรียกว่าวันล้างท้อง โดยวันนี้จะมีการยกเสาไม้ไผ่ ที่เรียกว่าเสาเต็งโก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ประเพณีถือศีลกินผักจะเริ่มขึ้น ในไม่ช้านี้แล้ว และวันต่อมาคือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ภายในคืนของวันที่ 30 เดือน 8 ซึ่งนับทางปฏิทินจันทรคติของจีน จะมีพิธีกรรมอัญเชิญเทพเจ้าที่ประจำอยู่ดวงดาวทั้ง 9 ดวง ที่เรียกว่า   “จิวหวางต้าตี้”   มาประจำยังศาลเจ้า เพื่อรับการเซ่นไหว้สักการะ  จากนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ผู้คนจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ไม่กินเนื้อสัตว์ สวดมนต์ ไหว้พระไหว้เจ้า ตามศาลเจ้าต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากข้อปฏิบัติตนแล้ว ยังมีการสวมใส่ชุดขาวเสื้อคอจีน กลัดกระดุมจีนแขนยาว   ซึ่งกระดุมจีนต้องกลัดตามเลขมงคล คือ 9 เม็ด หรือ 7 เม็ด กางเกงขายาวถึงข้อเท้า การรัดขากางเกงด้วยผ้าดิบขาวสามเหลี่ยม การประทับตราชื่อเทพเจ้าบนหลังเสื้อ และมีการรัดประคดคาดเอว ซึ่งภายใน 9 วันนี้ ทางศาลเจ้าจะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น การสวดมนต์เช้าเย็น การเดินสะพานสะเดาะเคราะห์ของผู้ที่ถือศีลกินผัก การออกโปรดสาธุชนแห่ขบวนเทพเจ้า เพื่อเก็บสิ่งชั่วร้ายภายในเมือง และอำนวยอวยพรให้ประชาชนร่มเย็น เป็นต้น

          ในวันสุดท้ายของประเพณีถือศีลกินผัก คือวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ในช่วงกลางคืน ก็จะทำการส่งเทพเจ้า จิวหวางต้าตี้ กลับสู่สรวงสวรรค์ทางสายน้ำ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดประเพณีถือศีลกินผักและจะกระทำเช่นนี้ทุกปี การปฏิบัติสืบทอดประเพณีถือศีลกินผักในจังหวัดตรังถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลา 160 ปี   ซึ่งชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเมืองตรัง จากมณฑลฮกเกี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง ได้นำประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาและปฏิบัติสืบทอดจนกลายเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น และได้รับการยอมรับจากคนพื้นถิ่น จึงทำให้ประเพณีการถือศีลกินผักในจังหวัดตรังยังคงสืบทอดและอนุรักษ์จนถึงปัจจุบันกลายเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมเยียนเมืองตรังเป็นจำนวนมาก

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : นายวชิรวิชญ์  ชิดเชื้อ โรงเรียนวิเชียรมาตุ

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x